Search
Close this search box.

ซื้อรถใหม่ ตรวจสอบป้ายแดงแท้หรือไม่ ระวังเสี่ยง ติดคุก-ปรับหนัก ของแท้ต้องมีลายน้ำ ตัวย่อนูน’ขส’

กรมการขนส่งทางบก แนะผู้ซื้อรถตรวจสอบป้ายแดง ต้องมีลายน้ำตราเครื่องหมายราชการกรมการขนส่งทางบก และต้องจดบันทึกข้อมูลการใช้รถลงในสมุดคู่มือประจำรถ ย้ำเจ้าของรถป้ายแดงต้องจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายภายใน 30 วัน เตือน !!! ผู้ปลอมป้ายทะเบียนมีโทษตามกฎหมายอาญา มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี ปรับสูงสุด 100,000 บาท

📘 นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ตามข่าวที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ มีเซลล์จากบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถแห่งหนึ่งได้ทำการขายรถยนต์ให้กับลูกค้า แต่กลับนำป้ายแดงปลอมมาติดให้ลูกค้า ทำให้ลูกค้ารายดังกล่าวถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม เมื่อนำรถไปใช้ จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปในวงกว้าง
ประกอบกับในปัจจุบันมีกลุ่มมิจฉาชีพ ได้นำป้ายแดงปลอมมาขายตามอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นป้ายทะเบียนที่ไม่ได้ออกให้โดยกรมการขนส่งทางบก และไม่ใช่ป้ายแดงที่ถูกต้องอยู่ในความครอบครองของบริษัทผู้จำหน่ายรถยนต์ ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายป้ายแดง ทำให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก
กรมการขนส่งทางบกในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอชี้แจงว่า ป้ายแดง คือ ป้ายทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบกออกให้บริษัทตัวแทนจำหน่ายรถที่ได้รับใบอนุญาต ใช้ติดรถเพื่อนำรถไปส่งให้ลูกค้า หรือนำรถไปซ่อมแซม และอนุโลมให้ใช้ได้ระหว่างดำเนินการจดทะเบียนรถ ไม่เกิน 30 วัน จึงขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อซื้อป้ายแดงในอินเทอร์เน็ต
ทั้งนี้ ป้ายแดง ถือเป็นเอกสารของทางราชการ กรมการขนส่งทางบกเตือนผู้ที่ปลอมป้ายทะเบียน หรือผู้ที่นำป้ายแดงปลอมไปติดรถ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งความผิดฐานปลอมเอกสารราชการหรือใช้เอกสารราชการปลอม มีโทษถึงขั้นจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 5 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

📘 รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ที่ซื้อรถยนต์กับตัวแทนจำหน่ายรถและต้องการตรวจสอบป้ายทะเบียนด้วยตัวเองว่า เป็นป้ายที่ถูกต้องหรือไม่ ป้ายแดงที่ออกให้โดยกรมการขนส่งทางบกอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น
สามารถสังเกตได้จากตัวย่อนูน ขส ที่มุมด้านล่างขวา ต้องมีลายน้ำตราเครื่องหมายราชการกรมการขนส่งทางบก (รูปมาตุลีเทพบุตรขับรถเทียมม้า) ปรากฏในแผ่นป้ายทะเบียนรถ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่กำหนดไว้ ซึ่งกรมการขนส่งทางบกออกให้แก่บริษัทตัวแทนจำหน่ายรถ สำหรับใช้ติดรถเพื่อนำรถไปส่งให้ลูกค้า หรือนำรถไปซ่อมแซมเท่านั้น
โดยแต่ละบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถจะมีหมวดและหมายเลขป้ายแดงหมุนเวียนต้องใช้คู่กับสมุดคู่มือประจำรถ และใบอนุญาตให้ใช้รถด้วย โดยผู้ใช้รถป้ายแดงต้องจดบันทึกข้อมูลการใช้รถลงในสมุดคู่มือประจำรถข้อมูลดังกล่าวได้แก่ ชื่อ-นามสกุลผู้ขับรถ ชื่อชนิดรถ เลขหมายตัวถัง เลขหมายเครื่องยนต์ ความประสงค์ในการขับรถยนต์ วันเดือนปี และระยะเวลาที่นำรถออกไปใช้

📘 รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก กล่าวทิ้งท้ายว่า กรมการขนส่งทางบก แนะผู้ซื้อรถตรวจสอบจำนวนวันการใช้รถขณะติดป้ายแดงต้องไม่เกิน 30 วัน นับจากวันรับรถ หากเจ้าของรถนำป้ายแดงไปใช้เกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่ดำเนินการนำรถไปจดทะเบียนให้แล้วเสร็จ
ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ฐานใช้รถโดยไม่จดทะเบียน หรือใช้ป้ายแดงผิดเงื่อนไขมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ย้ำให้เจ้าของรถป้ายแดง ที่ยังไม่จดทะเบียน รีบจดทะเบียนรถให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อป้องกันปัญหากรณีถูกโจรกรรมซึ่งยากต่อการติดตามตรวจสอบ

💥 กฎหมายน่ารู้ : ขับรถป้ายแดงอย่างไรให้ถูกกฎหมาย 💥
▶️▶️ ใช้รถป้ายแดงเกิน 30 วัน มีความผิดตามกฎหมาย

ปัจจุบันการใช้รถป้ายแดงเกิน 30 วัน จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 6 (1) ประกอบมาตรา 59 ฐานใช้รถที่ยังไม่จดทะเบียน หากฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท โดยกรมการขนส่งออกมายืนยันว่า การจดทะเบียนรถใหม่สามารถทำเสร็จได้ภายใน 1 วันเท่านั้น จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าของรถหรือศูนย์บริการ (กรณีเป็นฝ่ายดำเนินการจดทะเบียนให้แก่เจ้าของรถ) ในการเร่งรัดดำเนินการจดทะเบียนให้เสร็จภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับรถ
หลีกเลี่ยงการขับรถข้ามจังหวัด การขับรถป้ายแดงข้ามจังหวัดมีโอกาสสูงที่จะถูกเรียกตรวจโดยเจ้าพนักงาน เนื่องจากตามกฎหมาย ระบุว่า รถป้ายแดงจะสามารถวิ่งได้ภายในเขต ที่ระบุอยู่บนป้ายทะเบียนเท่านั้น ใช้ได้เฉพาะระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและก่อนพระอาทิตย์ตกเท่านั้น หากมีความจำเป็นจะต้องใช้เกินกว่าที่กำหนดไว้ ผู้ขับรถป้ายแดงทุกคนจะต้องลงบันทึกในสมุดบันทึกหรือ "สมุดคู่มือประจำรถใช้กับเครื่องหมายพิเศษ"
โดยระบุวัน/เวลา/สถานที่และเหตุจำเป็น พร้อมได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนก่อน และหากมีความจำเป็นต้องขับข้ามจังหวัดก็ต้องระบุเช่นกัน พร้อมได้อนุญาตจากนายทะเบียนด้วย หากขับรถระหว่างพระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้น เวลากลางคืน โดยไม่มีความจำเป็นและได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ข้อมูลจาก : พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 6 (1) มาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 59 และมาตรา 60

💥 4 ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้รถป้ายแดง 💥
▶️▶️ กฎเหล็กรถป้ายแดงมีอะไรบ้าง?

⏩ 1.รถใหม่ใช้ป้ายแดงได้ 30 วัน
สำหรับใครที่ถอยรถป้ายแดงมาใหม่เอี่ยม สิ่งที่คุณควรรู้คือ รถป้ายแดงของคุณมีระยะเวลาการใช้งานได้เพียง 30 วันเท่านั้น ตามระยะเวลาในการรอป้าย ส่วนใหญ่จะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน หากคุณมีพฤติกรรมใช้รถป้ายแดงเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จะมีความผิดฐานหลีกเลี่ยงภาษีและยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจร (พรบ.) ที่กำหนดไว้ว่า ให้รถใหม่สามารถใส่ป้ายทะเบียนสีแดงได้เพียง 30 วันเท่านั้น และมีโทษปรับจากการใช้ป้ายแดงเกินระยะเวลาที่กำหนด อยู่ที่ 10,000 บาท

⏩ 2.ลงบันทึกการใช้รถในสมุดคู่มือทุกครั้ง
สำหรับคนที่ออกรถใหม่ป้ายแดง จะได้รับสมุดบันทึกหรือคู่มือทะเบียนรถยนต์ มาด้วย ซึ่งคู่มือเล่มนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก เนื่องจากกฎหมายจราจรมาตรา 28 (ในการขับรถยนต์มาตรา 27) ระบุไว้ว่า ผู้ขับขี่จะต้องบันทึกรายการการใช้รถลงในสมุดคู่มือเสมอ ข้อมูลดังกล่าวได้แก่ ชื่อรถ หมายเลขตัวรถ หมายเลขเครื่องยนต์ของรถ / ความประสงค์ในการขับรถยนต์ / วันเดือนปี และควรระบุระยะเวลาที่นำรถออกไปใช้ จนถึงระยะเวลาที่รถถึงจุดหมายปลายทาง / ชื่อ – นามสกุลผู้ขับ
ในกรณีที่ทำสมุดคู่มือรถยนต์หาย สามารถดำเนินการขอใหม่ได้ที่กรมขนส่ง ส่วนใครที่มีรถใหม่และมักจะลืมลงบันทึกการใช้งานรถ วันไหนที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกสอบจะมีความความผิดฐานไม่ลงบันทึกการใช้รถและมีโทษปรับเป็นเงินไม่เกิน 1,000 บาท

⏩ 3.ใช้รถป้ายแดงตอนกลางคืนไม่ได้
กฎหมายจราจรได้มีการระบุไว้ว่า รถป้ายแดงสามารถใช้งานได้ในช่วงระยะเวลา ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น – พระอาทิตย์ตก (06.00-18.00 น.) เท่านั้น แต่เนื่องจากจราจรที่ติดขัดอย่างมากในปัจจุบันทำให้มีการขยายเวลาไปจนถึง 20.00 น.

⏩ 4.ห้ามใช้รถป้ายแดงวิ่งข้ามเขต
หากคุณเพิ่งออกรถใหม่และยังไม่ได้ทำการเปลี่ยนป้ายทะเบียน หรือยังรอป้ายทะเบียนใหม่จากกรมขนส่งอยู่ การขับรถข้ามเขต หรือการขับรถออกนอกจังหวัด ถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายได้ระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า รถป้ายแดงสามารถใช้งานได้ภายในเขตจังหวัดที่ระบุอยู่บนป้ายทะเบียนเท่านั้น เช่น ป้ายทะเบียนกรุงเทพฯ ก็สามารถใช้งานได้แค่ภายในจังหวัดกรุงเทพฯเท่านั้น หากคุณมีความจำเป็นต้องใช้รถนอกเขต ก็คุณจะต้องได้รับการอนุญาตจากนายทะเบียน และมีหลักฐานเป็นเอกสารพร้อมลายเซ็นของนายทะเบียน รวมถึงต้องลงบันทึกการใช้รถยนต์ในคู่มือรถยนต์อย่างละเอียด จึงจะสามารถขับรถออกนอกเขตที่จดทะเบียนได้ ในกรณีที่ คุณลืมทำเรื่องขอใช้รถยนต์นอกเขตจดทะเบียน และไม่ใส่ใจลงบันทึกการใช้รถอย่างละเอียด หากโชคร้ายไปเจอด่านตรวจแล้วไม่มีเอกสารดังกล่าวแสดงแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ จะมีโทษปรับสูงสุดถึง 10,000 บาท

💥 วิธีสังเกตป้ายแดงปลอม 💥
สำหรับมือใหม่บางท่านอาจจะมีข้อสงสัยว่าป้ายแดงปลอมนั้นดูอย่างไร ถ้าเป็นของแท้ท่านต้องเสียเงินค่ามัดจำป้าย 3,000 บาท หากเป็นของปลอม ไม่ควรถูกเรียกเก็บเงินส่วนนี้ สำหรับป้ายแดงของแท้ ต้องมีตรา ขส ตรงมุมล่างขวา พร้อมกับสมุดคลุมป้ายแดงที่เป็นการบอกว่าเป็นป้ายที่กรมการขนส่งทางบกออกให้กับศูนย์รถต่างๆ เพื่อใช้ชั่วคราวระหว่างรอป้ายขาว สำหรับสีแดงของป้ายแดงปลอมจะไม่มีเกล็ดสะท้อนแสงหรือไม่บางที อาจสีซีดไม่แดงสด ส่วนความหนาของป้ายก็สังเกตได้จากป้ายแดงปลอมจะบางมากๆ อย่างเห็นได้ชัด