Search
Close this search box.

HONDA ปรับกลยุทธ์ปี 2025 ให้ตอบรับสภาพแวดล้อมธุรกิจในปัจจุบัน

บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด นำโดยนาย โทชิฮิโระ มิเบะ ผู้อำนวยการ ประธานกรรมการบริหาร และตัวแทนเจ้าหน้าที่บริหาร แถลงแนวทางการดำเนินธุรกิจของฮอนด้า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นที่การขับเคลื่อนด้วยยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีข้อสรุปดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงของตลาด EV และการปรับกลยุทธ์ทิศทางใหม่ ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ยังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง ผนวกกับความไม่แน่นอนทางธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชะลอตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากหลายปัจจัย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมที่เป็นพื้นฐานสำหรับการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานอย่างแพร่หลาย ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการค้าของประเทศต่าง ๆ ฮอนด้า จึงจำเป็นต้องสร้างคุณค่าใหม่ให้แก่ลูกค้า เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ผันผวน และไม่ใช่เพียงเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค ยานยนต์ไฟฟ้า แต่ยังผนวกการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงด้วย เพื่อนำเสนอคุณค่าเหล่านั้นไปยังลูกค้าในวงกว้างได้มากยิ่งขึ้น พร้อมเข้าถึงได้ง่ายและจับต้องได้

โดย ฮอนด้า จะปรับกลยุทธ์ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้ 2 ทิศทาง คือ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และรถยนต์ไฮบริด (HEV) ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ และเสริมรากฐานธุรกิจให้แข็งแกร่ง ผ่านการปรับพอร์ตโฟลิโอด้านระบบขับเคลื่อนใหม่ อีกทั้งเตรียมพัฒนาระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ (ADAS) เจเนอเรชันใหม่ พร้อมผนวกความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ รวมถึงปรับแผนเปิดตัวรถใหม่ เนื่องด้วยการชะลอตัวของตลาด EV ทั่วโลกที่ส่งผลให้เป้าหมายสัดส่วนยอดขาย EV ทั่วโลกของฮอนด้าในปี 2030 อาจต่ำกว่าเป้าหมาย 30% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า โดยนับจากนี้จะเน้นขุมพลังไฮบริด เป็นหลักในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะรถยนต์ไฮบริด (HEV) เจเนอเรชันใหม่ที่จะเปิดตัวตั้งแต่ปี 2027 เป็นต้นไป พร้อมเร่งขยายไลน์อัปไฮบริดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการปรับแนวทางนี้ ฮอนด้า ตั้งเป้าที่จะเพิ่มยอดขายในปี 2030 ให้มากกว่าระดับปัจจุบันที่ 3.6 ล้านคัน โดยมีเป้าหลักอยู่ที่ยอดขายรถยนต์ไฮบริด (HEV) ที่ 2.2 ล้านคัน

1-1 เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของรถยนต์ ผ่านการพัฒนาและประยุกต์ใช้ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง (ADAS) เจเนอเรชันใหม่อย่างแพร่หลาย

• ฮอนด้า อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง (ADAS) เจเนอเรชันใหม่ ที่สามารถช่วยในการขับขี่ได้ เช่น การเร่งและการบังคับเลี้ยวตลอดเส้นทาง ตามจุดหมายที่ผู้ขับขี่ป้อนลงในระบบนำทาง ไม่ว่าจะขับบนทางด่วนหรือถนนในเมือง ผ่านการต่อยอดองค์ความรู้ที่สั่งสมจากการพัฒนาเทคโนโลยี การขับขี่อัตโนมัติ

• โดยฮอนด้ามีแผนในการติดตั้งระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง (ADAS) เจเนอเรชันใหม่ ในรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และรถไฮบริด (HEV) รุ่นหลัก ๆ ที่เตรียมเปิดตัวในอเมริกาเหนือและญี่ปุ่น ในปี 2027

• สำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศจีนที่มีการเติบโตของเทคโนโลยีอัจฉริยะอย่างก้าวกระโดด ฮอนด้า มีแผนที่จะทำงานร่วมกับ Momenta Global Limited ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพของจีนที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติ เพื่อพัฒนา ADAS รุ่นถัดไปที่เหมาะสมกับสภาพถนนในประเทศจีน และติดตั้งในรถยนต์ฮอนด้าทุกรุ่นที่จะเปิดตัวในประเทศจีนในอนาคต

1-2 เสริมแกร่งกลยุทธ์ EV

• ฮอนด้า มุ่งพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบไฮบริด e:HEV ทั้งขนาดเล็กและขนาดกลาง ให้เป็นระบบ ขับเคลื่อนที่มีความก้าวหน้าในแง่มุมต่าง ๆ โดยพัฒนาต่อยอดบนระบบไฮบริด 2 มอเตอร์เดิม ผนวกเข้ากับ
1) การพัฒนาแพลตฟอร์มเจเนอเรชันใหม่ที่ล้ำสมัย มีเสถียรภาพในการขับขี่และน้ำหนักที่ลดลง และ 2) ระบบมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนสี่ล้อ (Electric AWD) ที่พัฒนาใหม่ ที่มอบการควบคุมที่แม่นยำและการตอบสนองของมอเตอร์ที่ทันใจ

• ตั้งเป้าพัฒนาระบบขับเคลื่อนฟูลไฮบริด e:HEV เจเนอเรชันใหม่ ให้มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันที่ดีขึ้น 10% รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนให้กับรถไฮบริด (HEV) ของฮอนด้า และปรับต้นทุนของระบบฯ ลง 50% เมื่อเทียบกับระบบไฮบริดที่ติดตั้งในรถยนต์ที่เปิดตัวรุ่นปี 2018 และลดลงกว่า 30% เมื่อเทียบกับระบบไฮบริดที่ติดตั้งในรถยนต์ที่เปิดตัวในปี 2023 ในรุ่นปัจจุบัน

• สำหรับตลาดอเมริกาเหนือที่เป็นตลาดหลักของรถไฮบริด (HEV) ฮอนด้า มีแผนที่จะพัฒนาระบบไฮบริดสำหรับรถขนาดใหญ่ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในตลาดนี้ โดยเตรียมที่จะติดตั้งในรถที่จะเปิดตัวในช่วงครึ่งปีหลังของทศวรรษ 2020

• มีแผนเปิดตัวรถไฮบริด (HEV) เจเนอเรชันใหม่ของฮอนด้า รวมทั้งหมด 13 รุ่นทั่วโลก ภายในระยะเวลา 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2027 เพื่อขยายไลน์อัปไฮบริด (HEV) ให้ครอบคลุมและตอบรับกับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

1-3 แนวคิดของฮอนด้า ในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคแห่ง EV อย่างเต็มรูปแบบ

• ฮอนด้า คาดว่าเป้าหมายสัดส่วนยอดขาย EV ทั่วโลกของฮอนด้าในปี 2030 อาจลดลงต่ำกว่าเป้าที่ 30% ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า เนื่องด้วยการชะลอตัวของตลาด EV ทั่วโลก
• โดยยังคงเชื่อมั่นในแนวคิดว่ายานยนต์ไฟฟ้า (EV) คือหนทางสำคัญในการมุ่งสู่การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ดังนั้นฮอนด้า จะยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการเตรียมรากฐานความพร้อมที่มั่นคง เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต

• สำหรับไลน์อัป Honda 0 Series (ฮอนด้า ซีโร่ ซีรีส์) ที่นับเป็นเสาหลักของธุรกิจ EV ของฮอนด้าในอนาคต จะมีการเผยโฉมรถยนต์รุ่นแรกในไลน์อัปในปีหน้า ซึ่งฮอนด้า จะส่งมอบคุณค่า SDV (Software-Defined Vehicle) ที่ปรับแต่งให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานแต่ละคนผ่านฟังก์ชัน “ultra-personal optimization” ผ่านการทำงานร่วมกันของระบบปฏิบัติการยานยนต์ ASIMO OS และระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่/ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง (AD/ADAS) ที่ได้นำเสนอไปในงาน CES 2025

• นอกจากนี้ Honda 0 Series เจเนอเรชันถัดไป จะมาพร้อมสถาปัตยกรรมยานยนต์แบบ Centralized E&E Architecture เพื่อมอบระบบ AD/ADAS ที่ล้ำสมัยยิ่งขึ้น

1-4 บทสรุปการปรับกลยุทธ์ EV
• ฮอนด้า มุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ ๆ ที่มีเอกลักษณ์ สอดรับกับยุคสมัยแห่งยานยนต์อัจฉริยะ และผลิตภัณฑ์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เพื่อส่งมอบความสนุกสนานในการขับขี่ (Joy of Driving) อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะรถยนต์ฮอนด้า

• เตรียมใช้โลโก้ H Mark ดีไซน์ใหม่ ในรถไฮบริดเจเนอเรชันใหม่ของฮอนด้า ที่จะเริ่มเปิดตัว สู่ตลาดในปี 2027 ซึ่งเป็นแบบเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้าในไลน์อัป Honda 0 Series ที่ได้เปิดตัวไปก่อนหน้า สะท้อนสัญญะแห่งการเปลี่ยนผ่านในธุรกิจยานยนต์ของฮอนด้า

1-5 ระบบการผลิตและการจัดสรรทรัพยากรด้านการผลิต

• มุ่งดำเนินงานตามกลยุทธ์ห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่นสูง โดยเตรียมจัดทำระบบการผลิตที่มีความยืดหยุ่น ที่สามารถปรับการผลิตได้อย่างเหมาะสมตามความต้องการและเป้าการขายได้ ผ่านการสร้างสายการผลิตที่สามารถผลิตได้ทั้ง EV และ HEV เพื่อรองรับกับการเติบโตของการจำหน่ายรถไฮบริดอย่างต่อเนื่อง และเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้าในระยะกลางถึงระยะยาว
• พร้อมจัดตั้งห่วงโซ่อุปทานในแนวคิด “ผลิตสินค้าให้ใกล้ชิดลูกค้า” ซึ่งเป็นแนวคิดของ “การผลิตในท้องถิ่นเพื่อการบริโภคในท้องถิ่น” เพื่อเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานให้แข็งแกร่งขึ้น และสามารถรองรับกับทุกการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดได้ในอนาคต

2. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในธุรกิจรถจักรยานยนต์
สำหรับปีงบประมาณล่าสุด ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2025 ที่ผ่านมา ฮอนด้า มียอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์รวมทั้งสิ้น 20.57 ล้านคัน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% ของยอดขายรวมในตลาดรถจักรยานยนต์ทั่วโลก โดยความสำเร็จครั้งนี้ยังสร้างสถิติยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใน 37 ประเทศและภูมิภาคอีกด้วย ทั้งนี้ คาดว่าความต้องการในตลาดรถจักรยานยนต์จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดรถจักรยานยนต์ใหญ่ที่สุดในโลก อันเนื่องมาจากการขยายตัวของประชากรและระดับรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่า ยอดขายรวมของอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันประมาณ 50 ล้านคัน เป็น 60 ล้านคันภายในปี 2030 เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฮอนด้า ยังคงมุ่งมั่นนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีความน่าสนใจ ผ่านการออกแบบที่สอดคล้องกับความต้องการที่แตกต่างกันของผู้บริโภคทั่วโลก พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดหาวัตถุดิบและระบบการกระจายสินค้าที่ดีอีกด้วย นอกจากนี้ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมที่มีวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อม ฮอนด้า ได้เร่งการใช้ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าในผลิตภัณฑ์รถจักรยานยนต์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำมันในรุ่นเครื่องยนต์สันดาป (ICE) และการขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ ที่รองรับเชื้อเพลิงทางเลือก

สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ฮอนด้า ได้เริ่มวางจำหน่ายรุ่น Active e: และ QC1 ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยได้มีการเปิดตัวครั้งแรกในประเทศอินเดียเมื่อปีก่อน ขณะเดียวกัน ฮอนด้ายังได้เริ่มจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก อย่างรุ่น CUV e: และ ICON e: ในประเทศอินโดนีเซียเป็นแห่งแรก และมีแผนขยายตลาดต่อไปยังเวียดนาม ไทย และฟิลิปปินส์

สำหรับรุ่น CUV e: ฮอนด้ามีกำหนดวางจำหน่ายในภูมิภาคยุโรปและประเทศญี่ปุ่นภายในปีนี้ โดยฮอนด้าจะดำเนินการพัฒนาโมเดลไฟฟ้า พร้อมทั้งจัดตั้งโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะที่มีประสิทธิภาพสูงในประเทศอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 2028 ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างโครงสร้างธุรกิจจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยฮอนด้าวางแผนที่จะนำเสนอรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในราคาที่เข้าถึงได้มากขึ้น พร้อมทั้งมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

เมื่อดำเนินการเช่นนี้แล้ว ฮอนด้าจะสามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความโดดเด่นและการพัฒนาระบบซัพพลายเชนที่ครอบคลุมทั้งในกลุ่มเครื่องยนต์สันดาป (ICE) และกลุ่มรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยในระยะยาว ฮอนด้าตั้งเป้าสร้างฐานธุรกิจที่มั่นคงด้วยส่วนแบ่งตลาดระดับโลกที่ 50% และอัตรากำไรจากการดำเนินงาน (ROS) มากกว่า 15% ภายในปีงบประมาณ 2531 (ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2031)

3. กลยุทธ์ด้านการเงิน - การพัฒนากำไร การประเมินการลงทุนใหม่ และการจัดสรรการลงทุน
• ฮอนด้า คาดการณ์ว่าจะเพิ่มผลกำไรของบริษัทฯ ภายในปี 2030 ด้วยแนวทางดังนี้
1) การขยายธุรกิจรถจักรยานยนต์อย่างต่อเนื่อง
2) การลดต้นทุนในธุรกิจยานยนต์ที่เกี่ยวเนื่องกับการปรับใช้ระบบขับเคลื่อนฟูลไฮบริด e:HEV เจเนอเรชันใหม่และแพลตฟอร์มใหม่
3) การเพิ่มยอดขายต่อหน่วยของรถไฮบริด (HEV) และจะยังคงมุ่งหน้าต่อไปเพื่อบรรลุเป้าหมาย ROIC (Return on Invested Capital) ของบริษัทที่ 10% สำหรับปีงบประมาณ 2031 (ปีงบประมาณสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2031)

• สำหรับแผนการลงทุนในกลยุทธ์ด้าน EV ที่ประกาศไว้เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่า 10 ล้านล้านเยนฮอนด้า ได้ปรับลดวงเงินลงทุนลง 3 ล้านล้านเยน เหลือ 7 ล้านล้านเยน ภายในปีงบประมาณ 2031 (ปีงบประมาณที่สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2031) โดยเป็นผลจากการตัดสินใจเลื่อนโครงการสร้าง value chain สำหรับ EV แบบครบวงจรในประเทศแคนาดา รวมถึงการยืดเวลาในการสร้างโรงงานที่จะผลิต EV เฉพาะออกไปก่อน

• สำหรับการเปลี่ยนแปลงการจัดสรรเงินทุนในช่วง 5 ปี นับจากปีงบประมาณ 2027 เป็นต้นไป ฮอนด้ามีเป้าหมายในการสร้างกระแสเงินสดรวมมากกว่า 12 ล้านล้านเยน โดยผสมผสานศักยภาพในการสร้างเงินสดอย่างมั่นคงจากธุรกิจรถจักรยานยนต์ควบคู่กับการเพิ่มยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าต่อหน่วย สำหรับการจัดสรรทรัพยากรจนถึงปีงบประมาณ 2031

• ลดการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ EV ลง 3 ล้านล้านเยน โดยฮอนด้า คาดว่าจะเพิ่มการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจรถยนต์ไฮบริด (HEV) เพียงเล็กน้อย โดยในส่วนของผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น ฮอนด้าจะยังคงรักษาเป้าหมายที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ และมุ่งมั่นให้ได้ผลกำไรให้มากกว่า 1.6 ล้านล้านเยน

เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่รวดเร็วและมีความผันผวน ฮอนด้าจะปรับปรุงการจัดสรรทรัพยากรอย่างยืดหยุ่นและทันการณ์ พร้อมทั้งจัดตั้งธุรกิจยานยนต์ที่พร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต และยังคงมุ่งเน้นการปรับปรุงผลกำไรอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสร้างรายได้ที่มั่นคงจากธุรกิจรถจักรยานยนต์ ฮอนด้าจะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนแม้ในสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ฮอนด้าได้ตัดสินใจนำอัตราส่วนเงินปันผลต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (DOE) มาใช้ เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในการรักษาผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นอย่างสอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจ ด้วยวิธีการนี้ ฮอนด้าจะสามารถเสริมสร้างโครงสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่งขึ้น พร้อมทั้งมอบผลตอบแทนที่มั่นคงและต่อเนื่องแก่ผู้ถือหุ้นควบคู่กันไป